เสื้อฟุตบอล แฟชั่น ผุู้หญิงใส่เสื้อบอล ทำไมชอบใส่เสื้อบอลนอน

Last updated: 5 พ.ค. 2565  |  1415 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สื้อบอล_ผู้หญิง

รู้หรือยัง ? "เสื้อฟุตบอล" ถูกเปลี่ยนให้เป็น "แฟชั่น" มาตั้งแต่ต้นปี 2000S


ถ้านึกถึงเสื้อบอลแล้ว ปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในแฟชั่นโลกเลยทีเดียว เพราะแต่ละสโมสรจะออกแบบชุดแข่งขันกันมาให้ดูมีของกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลวดลาย องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ และลูกเล่นต่างๆ ต้องมีความหมาย และเป็นภาพจำเวลาที่นักเตะสวมใส่
 
อย่างไรก็ตามเสื้อบอลสมัยก่อน ถูกสวมใส่เพียงเพื่อแบ่งนักเตะ 2 ทีมออกจากกันเท่านั้น วิวัฒนาการกว่าจะเป็นแฟชั่นเหมือนปัจจุบันต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านนานทีเดียว


ความเรียบง่ายที่ใช้แยกนักเตะ 2 ฝั่ง
การแข่งขันฟุตบอลในสมัยแรกๆ มีมาตั้งแต่ยุควิคตอเรีย ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านในประเทศอังกฤษ และไม่มีกติกาคอยควบคุม เป็นเพียงข้อตกลงของ 2 ทีมก่อนการแข่งขันเท่านั้น และมีจำนวนผู้เล่นไม่จำกัด ไม่เหมือนกับ 11 คนของยุคปัจจุบัน


ว่ากันว่าในปี 1848 นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในอังกฤษ เมื่อเข้ามาเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ก็เริ่มสร้างกติกาฟุตบอลร่วมกัน และมีการวางรูปแบบของชุดแข่งขันเอาไว้ อย่างไรก็ตามหนังสือคู่มือนั้นได้สูญหายไป แต่ "กติกาของเคมบริดจ์" (Cambridge Rules) คู่มือที่บันทึกกฎการเล่นฟุตบอลในยุคแรกที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1856 ยังคงอยู่ และถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดโรงเรียนชรูวส์บิวรี่ ประเทศอังกฤษ


เมื่อสโมสรฟุตบอลเริ่มก่อตั้งขึ้นในเมืองผู้ดี ไม่ว่าจะเป็นเชฟฟิลด์ เอฟซี (ก่อตั้งปี 1857) ฮัลแลม (1860) น็อตส์ เคาน์ตี้ (1862) แต่ละสโมสรก็มีกติกาของตัวเอง แต่กลับไม่มีการกำหนดชุดแข่งขันว่าจะเป็นอย่างไร มีเพียงการบันทึกไว้ว่า ไม่มีการกำหนดชุดที่แน่นอน ผู้เล่นจะใส่ชุดอะไรก็ได้ที่มี และจะแยกว่าใครอยู่ทีมไหนด้วยหมวกแก๊ป ผ้าพันคอ หรือสายสะพาย ส่วนใหญ่ยุคนั้นจะชุดสีขาวของคริกเก็ต เพราะนักเตะจำนวนมากเคยเป็นนักคริกเก็ตมาก่อน


ส่วนเรื่องการใช้สีมาแบ่งข้างนั้น มีบันทึกกฎของเชฟฟิลด์ ที่บันทึกไว้ในปี 1857 ว่า "นักเตะแต่ละคนจะต้องสวมหมวกแดงและสีฟ้า โดยทีมหนึ่งจะสวมหมวกสีฟ้า อีกทีมจะสวมสีแดง"


จากนั้นชุดแข่งขันที่เป็นทางการเริ่มมีในทศวรรษ 1870 แต่ละสโมสรมักจะเลือกสีหรือลวดลายที่แสดงถึงเอกลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับทีมของตัวเองมาออกแบบชุดแข่งขัน โดยมีกฎระเบียบระบุว่าไว้นักเตะจะต้องใส่กางเกงที่มีอุปกรณ์ป้องกันหัวเข่า เพราะฉะนั้นเราอาจจะเคยเห็นภาพว่านักฟุตบอลสมัยก่อนใส่กางเกงขายาว และมีเข็มขัดด้วย


ปี 1871-1872 เริ่มมีการนำการแข่งขันฟุตบอลถ้วยแบบแพ้คัดออก หรือ เอฟเอคัพ เข้ามาแข่งขัน และทุกทีมที่จะแข่งขันต้องทำตามกฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) บันทึกฉบับหนึ่งที่เขียนโดยนักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งบันทึกเกี่ยวกับฟุตบอลเอฟเอคัพในปี 1879 ที่อยู่ในสมาคมเบอร์มิงแฮม ระบุว่า "ในการแข่งขันฟุตบอล จะต้องมีจุดที่แยกให้เห็นว่านักเตะคนไหนอยู่ทีมไหน ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้รู้ได้ คือ ชุดแข่งขันนั่นเอง การที่เสื้อผ้าของนักเตะแต่ละทีมต่างกันออกไป นอกจากจะช่วยให้เพื่อนร่วมทีมไม่สับสนแล้ว คนดูก็จะรู้ด้วยว่านักเตะคนไหนอยู่ทีมไหน"


สโมสรแรกที่มีชุดแข่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงปี 1870 คือ แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ได้ออกแบบชุดด้วยการให้เสื้อเป็นสีฟ้าอ่อนและขาวตามสีของวิทยาลัยมัลเวิร์น สถานศึกษาที่นักเตะหลายคนจบการศึกษามา รวมทั้งเป็นสีฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับสีของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เนื่องจากมีผู้ก่อตั้งสโมสรหลายคน สำเร็จการศึกษามาจากที่นั่น แต่ก็ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะมีเสื้อแค่ตัวเดียว สีเดียว เพราะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ก็มีทั้งเสื้อสีชมพูและสีขาวจุดแดงในฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบท และความจำเป็นแต่ละนัดว่าจะใช้ตัวไหนใส่ลงแข่ง ไม่มีเบอร์ที่เสื้อกำหนดไว้ว่าใครใส่เบอร์อะไร

 เสื้อบอล_warrix_ทีมชาติ_ผู้หญิง


ทั้งหมดทั้งมวลก็พอจะสรุปได้ว่าชุดแข่งขันที่แตกต่างกันในยุคเริ่มต้น มีไว้แค่เพื่อแยกแยะได้ว่า ใครอยู่ทีมไหนเท่านั้นเอง


จุดเปลี่ยนสู่ธุรกิจ
เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 20 ข้อบังคับที่ว่านักฟุตบอลต้องใส่กางเกงที่มีอุปกรณ์กันหัวเข่า เริ่มผ่อนคลายลง กางเกงของนักเตะสั้นขึ้น และเริ่มมีวิวัฒนาการการใช้ผ้าที่ทันสมัยขึ้นจากผ้าคอตตอน หรือขนสัตว์ มาเป็นการใช้เส้นใยธรรมชาติให้ชุดแข่งเข้ารูปมาก


ความสวยงามของชุดแข่งขัน, นวัตกรรมที่ทันสมัย, รูปแบบที่หลากหลายเริ่มเข้ามามากขึ้น พร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมฟุตบอล ที่เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน เมื่อฟุตบอลเข้าสู่ทุกสังคม, ทุกชนชั้น, ทุกเพศ, ทุกวัยมากขึ้น ในที่สุด นักธุรกิจก็มองเห็นโอกาสในการทำให้เสื้อบอลกลายเป็นแฟชั่น


ปี 1973 แอดมิรัล (Admiral) แบรนด์เสื้อผ้าในอังกฤษได้ผลิตชุดแข่งขันให้ลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งแอดมิรัลริเริ่มแนวคิดทำเสื้อเรพลิก้า (Replica) หรือเสื้อจำลองจากเสื้อแข่งขันจริง ด้วยผ้าที่ราคาถูกกว่าเสื้อแข่งจริง นำออกขายแฟนบอล ซึ่งการตลาดนี้ได้ผลเป็นอย่างดี แอดมิรัลขยายตลาดไปในสโมสรใหญ่ๆ ทั่วอังกฤษ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, เซาแธมป์ตัน จนเสื้อบอลกลายเป็นสิ่งที่แฟนบอลวัยเด็กต้องมี เพื่อจะได้ใส่ไปเตะฟุตบอลที่โรงเรียน หรือใส่ไปเที่ยวสวนสาธารณะในช่วงวันหยุด ณ จุดนี้เอง "เสื้อบอล" เริ่มมีอิทธิพลไปจนถึงเหล่าเยาวชน ในครอบครัวกลุ่มชนชั้นล่างถึงชนชั้นกลาง เพราะมันกลายเป็นของที่จับต้องได้ นั่นทำให้บริษัทชุดกีฬาอื่นๆ เริ่มเห็นความสำคัญของการขยับขยายสนับสนุนชุดแข่งขันมากขึ้น


อีกจุดสำคัญ คือ ผ้าโพลีเอสเตอร์ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่สมัยนั้น ถูกนำเข้ามาตัดเย็บเป็นชุดแข่งขันในช่วงปี 1981 เป็นต้นมา เพราะราคาถูกกว่า, น้ำหนักเบากว่า ยิ่งไปกว่านั้นสามารถทำสี และรูปทรงที่ผ้าเส้นใยธรรมชาติทำไม่ได้อีกด้วย


โพลีเอสเตอร์เข้ามาสร้างความหลากหลายให้กับเสื้อบอลมากขึ้น ทั้งในแง่ของการออกแบบ และราคาที่ถูกลง ทำให้แฟนบอลจับจ่ายเสื้อทีมรักมาครอบครองได้สะดวกกว่าเดิม


ธุรกิจเสื้อบอลที่เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจฟุตบอล
ฟุตบอลทั่วยุโรปยุค 1990-2000 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เพราะมีการจ่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอย่างมหาศาล โดยเฉพาะลีกใหญ่อย่างอังกฤษ, อิตาลี, สเปน จากเดิมที่เคยใช้เสื้อแบบเดิมหลายฤดูกาล ก็เริ่มเปลี่ยนถี่ขึ้น เนื่องจากเสื้อของแต่ละสโมสรสามารถดึงรายได้จากการอุดหนุนของแฟนบอลอย่างมากมาย


วัฒนธรรมการใส่เสื้อทีมรักในการเชียร์เริ่มชัดเจนอย่างมากในยุค 90 นี่เอง แฟนบอลไม่ได้ใส่เพื่อเชียร์ทีมเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเป็นแฟนคลับของสโมสรนี้ อีกเหตุผลหนึ่ง คือ เสื้อบอลใส่กับกางเกงยีนส์แล้วดูเก๋ไปอีกแบบ
บริษัทผลิตชุดแข่งเริ่มให้สโมสรเปลี่ยนชุดแข่งบ่อยขึ้น แต่ก็มีเสียงบ่นจากแฟนบอลว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเกินไป ที่อังกฤษ ในช่วงปี 1990-2000 มีข้อตกลงว่าจะใช้ชุดแข่ง 2 ฤดูกาลแล้วถึงจะเปลี่ยนใหม่ อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น จึงมีการออกเสื้อชุดที่ 3 ขึ้นมา ไม่ใช่แค่ชุดเหย้า ชุดเยือนเท่านั้น
ช่วงนี้การออกแบบเสื้อจะเน้นไปที่ความหรูหรา แปลกตามากขึ้น ฮัลล์ ซิตี้ ทำเสื้อเหย้าเป็นลายของเสือทั้งตัว แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาปกเสื้อที่เป็นซิปมาใช้ หรือแม้กระทั่งการทำเสื้อที่ใส่ได้ 2 ด้าน เพื่อฉลองทริปเปิ้ลแชมป์ ในปี 1999-2000 ของทีมปีศาจแดง


ในปี 1992 ซึ่งฟุตบอลดิวิชั่น 1 อังกฤษ ได้เปลี่ยนมาเป็นพรีเมียร์ลีกแล้ว ปีนั้นเอฟเอได้ยกเลิกกฎห้ามใส่เสื้อดำ เพราะจะไปเหมือนกับเสื้อของผู้ตัดสิน โดยให้ผู้ตัดสินสามารถเลือกสีเสื้อได้ตามความเหมาะสมที่จะไม่ตรงกับผู้เล่นทั้ง 2 ทีม ถือเป็นการเกิดใหม่ของเสื้อดำในสนามหญ้าอังกฤษอย่างแท้จริง


มีการนำเสื้อดำมาออกแบบเป็นเสื้อเยือนและเสื้อตัวที่ 3 กันมากขึ้น ปี 1993 แมนฯยูมีเสื้อดำ ขลิบแขนเสื้อด้วยสีน้ำเงินและเหลือง ส่วนสปอนเซอร์หน้าอกก็เป็นสีเหลืองเช่นกัน หลังจากนั้นหลายสโมสรก็เอาด้วย มีการใช้สีน้ำเงิน เทา ม่วง เขียว ฯลฯ มาประดับกันอย่างหลากหลาย


ปี 1993 ไนกี้ แบรนด์ดังทางฝั่งอเมริกันข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำธุรกิจในยุโรปบ้างแล้ว และมาช่วงชิงเป็นสปอนเซอร์ให้อาร์เซน่อลแทนอาดิดาสได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า การแข่งขันเริ่มสูงขึ้นแล้ว และผลประโยชน์ก็ตกที่แฟนบอล


มีการตัดราคากันเกิดขึ้น บางสโมสรเลือกที่จะผลิตเสื้อในชื่อแบรนด์ของตัวเอง เช่น อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ทำเสื้อขายในชื่อยี่ห้อตัวเอง ในปี 1996 นอกจากนั้นการย้ายฐานผลิตออกจากยุโรปมายังเอเชียและทวีปอื่นๆ ทำให้ค่าจ้างแรงงานถูกลง ต้นทุนในการผลิตจึงต่ำลงไปด้วย ราคาเสื้อจึงถูกลงไปโดยปริยายแต่ช่วงปลายทศวรรษนี้ หลายแบรนด์ใช้เทคโนโลยีของเนื้อผ้ามาสร้างชื่อมากขึ้น เสื้อฟิตมากขึ้น ถ่ายเทอากาศดีขึ้น แห้งเร็วขึ้น ยิ่งบางบริษัทอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรีดความสามารถให้นักเตะ ได้อย่างเต็มที่มากขึ้นอีกด้วย

เสื้อบอล_warrix_ผู้หญิง

ยุคมิลเลเนียม ดีไซน์ล้ำสมัย และส่วนร่วมของแฟนบอล
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา การออกแบบเสื้อฟุตบอลเน้นความล้ำสมัยมากขึ้น พูม่า (Puma) หนึ่งในแบรนด์ระดับโลกจากเยอรมนีเข้ามาออกแบบชุดให้ ฟูแล่ม เป็นครั้งแรก ๆ ที่ลายของเสื้อไม่มีความสมดุล ขวาซ้ายไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เสื้อของฟูแล่มในปี 2003 ได้รับคำชมอย่างมาก และถูกนำรูปแบบนี้มาใช้มากขึ้นในฤดูกาลถัดมา


ขณะที่อีกรูปแบบ คือ การออกแบบ 360 องศา ที่เสื้อจะมีลวดลายและน่ามองตั้งแต่ด้านหลัง ไม่ใช่แค่ด้านหน้าอีกต่อไป


ฤดูกาล 2006-2007 เป็นครั้งแรกที่มีหลายลีกอนุญาตให้มีการติดโลโก้สปอนเซอร์ตัวที่ 2 ในชุดแข่งได้ (อังกฤษเพิ่งมาอนุญาตเมื่อฤดูกาล 2017-2018) ทำให้รายได้ของสโมสรต่างๆ เพิ่มมากขึ้นไปอีก


ช่วงนี้มีความน่าสนใจตรงที่หลายทีมเปิดโอกาสให้แฟนบอลสามารถออกแบบชุดแข่งขันในฤดูกาลหน้าได้ หรืออาจจะให้สิทธิ์แฟนบอลโหวตเลือกชุดที่ชอบที่สุด ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่แยบยลของทั้งสโมสรและฝ่ายผลิตเสื้อ เนื่องจากเป็นการโฆษณาทางอ้อมไปในตัว


ชุดแข่งช่วงนี้ยังมีการไปเอี่ยวกับการกุศลอีกด้วย เอฟเวอร์ตันออกชุดแข่งสีชมพูในปี 2007 เพื่อขายนำเงินมาช่วยการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม แต่ก็ไม่เคยใส่ชุดนี้ลงแข่งแต่อย่างใด บางสโมสรก็ออกแบบมาเพื่อใส่แข่งจริง แล้วนำเอาเสื้อแข่งของนักเตะดังในทีมไปประมูลเพื่อช่วยเหลือด้านการกุศล


ทศวรรษนี้ หลายสโมสรจะให้นักเตะใส่เสื้อแข่งใหม่ในฤดูกาลหน้า ลงเตะเกมสุดท้ายของฤดูกาลปัจจุบัน ทำให้ยอดขายเสื้อของสโมสรยักษ์ใหญ่ในอังกฤษอย่างอาร์เซน่อล, แมนฯยู, ลิเวอร์พูล, เชลซี ตกปีละกว่า 10 ล้านปอนด์เลยทีเดียว


ปี 2000 เป็นต้นมา แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างอาดิดาส, พูม่า, ไนกี้, อัมโบร มีส่วนแบ่งตลาดในเสื้อผ้าของทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฤดูกาล 2007-2008 รวมกัน 35.8% ฤดูกาล 2010-2011 รวมกัน 45.6%


เสื้อบอลยุคคลาสสิก แฟชั่นที่แพร่หลาย
นักเตะซูเปอร์สตาร์หลายคนทำให้วงการแฟชั่นต้องเหลียวมอง เมื่อฟุตบอลเป็นกีฬาเบอร์ 1 ของโลกอยู่แล้ว นักเตะดังเหล่านั้นก็จะได้รับการจับตามองเป็นพิเศษทั้งในและนอกสนาม มีเซเลบในวงการบันเทิงอยากจะสนิทสนมด้วย และบางคนก็หลงใหลในฟุตบอลถึงขึ้นบ้าคลั่ง เอลตัน จอห์น นักร้องชื่อดังของเกาะอังกฤษก็เคยเป็นรองประธานสโมสร วัตฟอร์ด มาแล้ว ในปี 1973 เขาใส่ชุดแข่งวัตฟอร์ดพร้อมสวมแว่นตาแฟชั่นเก๋ไก๋ ถ่ายรูปกับลูบอล และรอยยิ้มที่สดใส


ยุค 80 จอร์จ เบสต์ ปีกแมนฯยูถือเป็นนักเตะที่นำสมัย ขึ้นปกนิตยสารมากมาย แต่งตัวได้มีคลาส เป็นที่กรี๊ดกร๊าดของสาวๆ ไม่ว่าจะแต่งตัวออกมาอย่างไรก็จะถูกตำรวจแฟชั่นคอยให้คะแนนอยู่เสมอ


ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกฟุตบอลไม่ได้ถูกบันทึกด้วยผลแพ้ชนะเสมอไป มันถูกจดจำจากเสื้อแข่งที่ใส่ในแมตช์นั้นๆ ของนักเตะในสนามด้วย

สื้อบอล_ผู้หญิง


เฮิร์ดบอกถึงสาเหตุที่ทำให้เสื้อบอลกลายมาเป็นแฟชั่นในยุคนี้ ว่า เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง เหมือนกับบาสเกตบอล ดังนั้นคนที่ติดตามกีฬาเหล่านี้ อาจจะไม่ได้มองเรื่องการแข่งขันเป็นหลัก แต่มุ่งสายตาไปที่ตัวนักกีฬา ซึ่งหลายคนเป็นต้นแบบในเรื่องแฟชั่นอยู่แล้ว ทำให้ได้ดูทั้งกีฬาและตามแฟชั่นไปในตัว นอกจากนั้นเสื้อบอลก็เป็นสิ่งที่บอกถึงภูมิหลังของคนใส่ เช่นว่าเขามาจากเมืองไหน เสื้อทุกตัวสามารถเล่าเหตุการณ์ที่ทีมเจอในปีนั้น ๆ ไม่ใช่แค่นั้นยังเป็นการบอกถึงความคิดในเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น เสื้อของสโมสร มาดูเรร่า ในลีกบราซิล ที่มีรูป เช กูเอวาร่า นักปฏิวัติชาวอาร์เจนไตน์ หรือเสื้อของ โครินเธียนส์ ที่มีข้อความว่า "Democracia" หรือ "ประชาธิปไตย" ที่หลังเสื้อ แสดงถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฟุตบอลที่มีการปกครองของบราซิลในช่วงนั้น เป็นต้น


เหล่าเซเลบกับการสร้างรันเวย์ใหม่
ปัจจุบันมีดาราและเซเลบระดับโลกหลายคนที่หยิบเอาเสื้อบอลมาใส่ รวมทั้งเสื้อผ้าแบรนด์ดังจับเอาชุดแข่งขันในอดีตมาดัดแปลงให้ดูคลาสสิกและนำสมัยในเวลาเดียวกัน
เซเลบที่ใส่เสื้อบอลไม่ใช่แค่นักกีฬาเท่านั้น ยังมีซุป'ตาร์ในหลายวงการ Snoop Dogg แร็ปเปอร์อเมริกัน ก็มักจะใส่เสื้อบอลของทีมต่างๆ ออกงานอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่ง Drake แร็ปเปอร์ชื่อดังอีกคนก็ใส่เสื้อ ยูเวนตุส สีชมพู ถ่ายรูปลงในอินสตาแกรมมาแล้ว


ถึงตรงนี้สามารถบอกได้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นแรงขับขนานใหญ่ที่ทำให้เทรนด์เสื้อบอลในโลกแฟชั่นขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง


ทุกวันนี้แฟชั่นกับฟุตบอลสามารถนำมาผสานรวมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปารีส แฟชั่นวีก และมิลาน แฟชั่นวีก ถือเป็นงานโชว์แฟชั่นที่สำคัญของโลก มีการนำเอาเสื้อแข่ง ผ้าพันคอ สัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลมาออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายสุดเก๋กันมากมาย


Koché แบรนด์จากกรุงปารีส จับเอาเสื้อของปารีส แซงต์ แชร์แมง มาออกแบบใหม่ Versace ก็ปล่อยผ้าพันคอที่ให้แฟนบอลไฮเอนด์สามารถนำเข้าไปผันระหว่างชมเกมในสนามได้ โดนาเตลล่า เวอร์ซาเช่ ก็ใส่เสื้อยี่ห้อของตัวเองที่มีลักษณะเป็นเสื้อฟุตบอลที่ตกแต่งให้หรูหราตามสไตล์แบรนด์นี้ พร้อมทั้งเรียกมันว่า เสื้อ Versace FC


นอกจากแบรนด์หรูแล้ว สตรีทแวร์ทั่วไปก็ขยับตัวเข้าใกล้ฟุตบอลมากขึ้น นีล เฮิร์ด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า เมื่อก่อนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นวัยรุ่นเล่นสเก็ตบอร์ดใส่เสื้อบอลมาโชว์ลีลาเอ็กซ์ตรีม เพราะคนที่นิยมชมชอบในกีฬาผาดโผนเหล่านี้ มีเสื้อผ้าเฉพาะทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ได้เห็นนักสเก็ตบอร์ดหลายคนใส่เสื้อบอลยุค 80 โลดแล่นบนลานเอ็กซ์ตรีมกันแพร่หลายทีเดียว


วัยรุ่นจำนวนมากมองว่าการใส่เสื้อบอลแบบคลาสสิก เป็นแฟชั่นที่โคตรคูล ตรงนี้มีการยืนยันจาก ดักลาส เบียร์ตัน และแมทธิว เดล เจ้าของร้านขายเสื้อบอลย้อนยุค Classic Football Shirts ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ร้านนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2006 แต่มียอดขายมาแล้วมากมาย ปัจจุบันมียอดขายถึง 300,000 ตัวต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นเสื้อเก่าของสโมสรฟุตบอลในยุโรป แต่ละตัวมีมูลค่าประมาณ 100 ปอนด์ทั้งนั้น
ถึงตอนนี้บอกได้ว่าฟุตบอลกับแฟชั่น และแฟชั่นกับฟุตบอล เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกแล้วจริงๆ


เสื้อ_warrix_ผู้หญิง


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้